กิจกรรมโครงการ
"การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน" พื้นที่กรุงเทพมหานคร
ดำเนินงานโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศิลปากร ประจำปี 2564
เพื่อให้ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนที่มีคุณค่าได้นำมาสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และอุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรม (Cultural Industries) โดยอาศัยแนวคิดกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนผ่านกิจกรรมทางศิลปะและวัฒนธรรม โครงการวิจัย “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ บนฐานทุนทางวัฒนธรรมชุมชน” จึงได้จัดทำขึ้นเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนผ่านความร่วมมือของศิลปิน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่และสถาบันการศึกษา โดยจะดำเนินการ 4 พื้นที่ ได้แก่ (1) จังหวัดกาญจนบุรี (2) จังหวัดสุพรรณบุรี (3) จังหวัดนครปฐม (4) กรุงเทพมหานครฯ ซึ่งทั้ง 4 พื้นที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคกลางและภาคกลางตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อทดลองขับเคลื่อนทุนทางวัฒนธรรมให้มีผลต่อเศรษฐกิจชุมชนผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์
จังหวัดนครปฐมเป็นอู่อารยธรรมสำคัญที่มีประวัติความเป็นมายาวนานบนแผ่นดินสุวรรณภูมิ แต่เดิมเมืองนครปฐมนั้นตั้งอยู่ริมทะเล เป็นเมืองเก่าแก่ มีความเจริญรุ่งเรืองมานับตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิ และเป็นราชธานีสำคัญในสมัยทวารวดี ในยุคนั้นนครปฐมเป็นแหล่งเผยแพร่อารยธรรมจากประเทศอินเดีย ซึ่งรวมทั้งพุทธศาสนา นครปฐมจึงเป็นศูนย์กลางของความเจริญ มีชนชาติต่างๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก ต่อมาได้เกิดความแห้งแล้งขึ้นในเมืองนครปฐม เพราะกระแสน้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนเส้นทาง ประชาชนจึงอพยพไปตั้งหลักแหล่งอยู่ริมน้ำ และสร้างเมืองใหม่ขึ้นชื่อ “เมืองนครไชยศรี” หรือ “ศรีวิชัย” นครปฐมจึงกลายเป็นเมืองร้างมาเป็นเวลาหลายร้อยปี จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ทรงยังผนวชได้ธุดงค์ไปพบพระปฐมเจดีย์ และทรงเห็นว่าเป็นเจดีย์องค์ใหญ่ไม่มีที่ใดเทียบเท่า ครั้นเมื่อได้ครองราชย์ จึงโปรดฯ ให้ก่อเจดีย์แบบลังกาครอบองค์เดิมไว้ โดยให้ชื่อว่า “พระปฐมเจดีย์” ทรงปฏิสังขรณ์สิ่งต่างๆ ในบริเวณองค์พระปฐมเจดีย์ให้มีสภาพดี และโปรดฯให้ขุดคลองเจดีย์บูชาเพื่อให้การเสด็จมานมัสการสะดวกขึ้นต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ผ่านเมืองนครปฐม ซึ่งขณะนั้นยังเป็นป่ารก พระองค์จึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองจากตำบลท่านา อำเภอนครชัยศรี มาตั้งที่บริเวณองค์พระปฐมเจดีย์เหมือนเช่นครั้งสมัยโบราณครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังสนามจันทร์เป็นที่เสด็จแปรพระราชฐานและฝึกซ้อมรบแบบเสือป่า โดยโปรดฯ ให้ตัดถนนเพิ่มขึ้นอีกหลายสาย รวมทั้งสร้างสะพานเจริญศรัทธาข้ามคลองเจดีย์บูชาเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟกับองค์พระปฐมเจดีย์ ตลอดจนสร้างพระร่วงโรจนฤทธิ์ทางด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์และบูรณะองค์พระปฐมเจดีย์ให้สมบูรณ์สวยงามดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และได้โปรดให้เปลี่ยนชื่อจากเมือง “นครไชยศรี” เป็น “นครปฐม”